ประเด็นร้อน

'3แนวร่วม' ดันร่างกฎหมาย คุ้มครองประชาชนต้านทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 22,2017

- - สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ - -

 

วาระปราบโกง เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) เมื่อครั้งเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ ต่อเนื่องถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และส่งต่อพันธะนี้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ผูกพันถึงฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติต้องตรากฎหมายใหม่

         

กฎหมายหนึ่งในหลายฉบับที่สำคัญยิ่ง นั่นก็คือ "ร่างพ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ" ที่เสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จนผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และได้ฤกษ์บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 นี้ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

         

แก้ปัญหาถูกกฎหมายปิดปาก

         

นายวิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อธิบายถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 63 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนและให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแสโดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

         

"ในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการตรวจสอบการทุจริตอย่างเกาหลีใต้นั้น เขามีกฎหมายลักษณะนี้อยู่ ผู้ที่ร้องเรียนเรื่องการทุจริตจะต้องไม่ถูกฟ้องหมิ่นประมาท หรือไม่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท ไม่เกิดลักษณะที่เรียกว่า "SLAPP Law" หรือ "การตบหน้ากลับโดยใช้ผลของกฎหมาย กระทำโดยชอบ การปฏิรูปเรื่องนี้จึงสำคัญ ถ้าเราทำได้จะเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน จะเป็นเกราะป้องกัน แก้ปัญหาถูกกฎหมายปิดปากอย่างที่ผ่านมาโดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม"

         

พลังปชช.คุ้มค่า-ต้นทุนต่ำ

         

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT องค์กรซึ่งมีบทบาทสำคัญ ร่วมตั้งไข่ในร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ไม่น้อยได้ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า แม้ว่าการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันดูจะเป็นเรื่องที่ยากเกินฝัน เพราะที่ผ่านมาเวลาประชาชนจะพูดหรือทำอะไรก็ยาก เพราะกลัว ไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรหรือไปร้องเรียนกับใครได้ และบ่อยครั้งที่โดนข่มขู่ โดนฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อปิดปาก ถ้าจะหวังพึ่งรัฐบาลหรือพึ่งนักการเมืองก็ลำบากใจ ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 63 ให้รัฐต้องสนับสนุนและปกป้องการรวมตัวของประชาชนเพื่อต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันของชาติ จึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

         

"เราได้เห็นแล้วว่า การไปไล่จับคนโกง เมื่อโกงแล้วจึงไปตะครุบจับกุม มันไม่คุ้มเพราะความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว และที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง) และ กรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น แต่จนถึงวันนี้สถานการณ์คอร์รัปชันเลวร้ายลง แปลว่า มาตรการเหล่านี้ไม่เป็นผล

         

สำหรับแนวทางใหม่ที่ให้พลังประชาชนเข้ามาตรวจจับพฤติกรรม มันเป็นวิธีการที่คุ้มค่า ต้นทุนน้อย ทั้งยังสามารถเห็นผลก่อนจะเกิดการสูญเสีย เพราะประชาชนเขารู้สึกเป็นเจ้าของภาษี เป็นเจ้าของประเทศ ทำให้เกิดความ ภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของส่งผลทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมกันสอดส่อง ดูแล ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงจำเป็น"

         

โมเดลล่างข้นบน

         

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นักวิชาการอีกรายที่สะท้อนความเห็นเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจเมื่อครั้งขึ้นเวทีเสวนา "รัฐบาลใหม่ คอร์รัปชันเก่า?" โดยตั้งข้อสังเกตว่า ภาครัฐมักจะเน้นปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันจากบนลงล่าง ด้วยการตั้งหน่วยงานรัฐขึ้นมา อาทิ ป.ป.ช., ป.ป.ท., ป.ป.ง. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ไม่เคยคิดค้นวิธีที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมปราบคอร์รัปชันทั้งกระบวนการทางนโยบาย กระบวนการออกกฎหมาย และกระบวนการตัดสินใจทางนโยบาย

         

ปัญหาสำคัญที่ทำให้รัฐไม่สามารถปราบคอร์รัปชันได้ เนื่องจากไปเน้นตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบ แต่มีข้อจำกัด ทั้งยังทำงานล่าช้าเหมือนอยู่ในระบบราชการ ไม่คล่องตัว ทำงานแบบต่างคนต่างทำ ประสานงานก็ไม่ดี ดังนั้น จะไปคาดหวังให้รัฐบาลใหม่มาปราบคอร์รัปชันได้นั้นคงยาก แต่ควรจะหวังจากภาคประชาชนมากกว่า การต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผลต้องทำแบบเครือข่ายทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการและสื่อ หากเชื่อมโยงกันได้และไปในทิศทางเดียวกัน เคลื่อนไปด้วยกันก็จะมีแรงกดดันต่อรัฐบาลในการปราบปรามคอร์รัปชัน

         

"โมเดลการปราบปรามคอร์รัปชันในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไปจากบนลงล่าง จากที่เน้นหน่วยงานของรัฐ เป็นจากล่างขึ้นบนที่เน้นภาคประชาชนมีส่วนร่วม"

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw